แม้ว่าซัมซุง Spica จะวางตลาดมานานพอสมควรแล้ว แต่กว่าจะมีโปรดักส์ออกมาให้กับสื่อได้นำมาทดสอบใช้งานกันก็ล่วงเลยเวลามา นานพอสมควร อาจจะเป็นเพราะซัมซุงมีโปรดักส์ออกมาค่อนข้างเยอะในช่วงที่ผ่านมา
เจ้า Spica ตัวนี้ซัมซุงทำออกมาได้ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับฟีเจอร์ต่างๆ ที่ให้มา ดังนั้นจึงน่าจะเหมาะกับผู้บริโภคที่ต้องการแอนดรอยด์มาใช้งานเป็นเครื่อง แรกในระดับอินเตอร์แบรนด์ที่ฟีเจอร์ค่อนข้างครบ พร้อม GMS มาให้ใช้งาน
Feature On Samsung Galaxy Spica
ด้วยความที่ Spica เป็นรุ่นแรกที่ทางซัมซุงออกมาทำตลาดเจ้าหุ่นเขียวแอนดรอยด์ ดังนั้นจึงยังไม่มีการพัฒนาเพื่อใส่อินเตอร์เฟสการใช้งานเจ้าประจำของซัมซุง อย่าง TouchWIZ ดังนั้นอินเตอร์เฟสหลักของ Spica จึงเป็นแบบดั้งเดิมที่มากับแอนดรอยด์ เวอร์ชัน 1.5
ที่มีหน้าต่างว่างๆ ให้ผู้ใช้เลือก Widget มาใส่ด้วยตนเอง 3 หน้าด้วยกัน ซึ่งด้วยความสะดวกนี้เอง ทำให้แอนดรอยด์ถือเป็นระบบปฏิบัติการที่ค่อนข้างเป็นมิตรกับผู้ใช้ ที่สามารถปรับแต่งไอคอนลัดต่างๆ มาไว้ที่หน้าจอ รวมไปถึงการแสดงผลทั้งทวิตเตอร์และเฟสบุ๊กบนหน้าจอหลักด้วย
ซึ่งแน่นอนว่าทางทีมงานเองได้เคยพูดถึงการปรับแต่งอินเตอร์เฟสการใช้ งานทั่วไปของแอนดรอยด์มาแล้วรอบหนึ่งในรีวิวของ เอชทีซี Magic ดังนั้น ผู้อ่านสามารถย้อนกลับไปอ่านรายละเอียดแบบเจาะลึกได้ที่นี่
แม้จะไม่มีอินเตอร์เฟสครอบมาทางซัมซุงเองก็มี ลูกเล่นใส่มาให้ใช้กันในโหมดโทรศัพท์ และรายชื่อผู้ติดต่อ ไล่จากโหมดโทรศัพท์ที่สามารถเข้าถึง ประวัติการสนทนา รายชื่อผู้ติดต่อ และรายชื่อโปรด
ส่วนปุ่มกดโทรศัพท์จะทำออกมาในลักษณะวงกลม หน้าจอสายเรียกเข้าจะมีแสดงรูปภาพและเบอร์ผู้ติดต่อตามปกติ ส่วนหน้าจอขณะสนทนา สามารถเข้าสู่เมนูการใช้งานต่างๆได้จากการกดปุ่ม เมนู ที่ถือว่าเป็นปกติของแอนดรอยด์
ที่น่าสนใจคือส่วนของรายชื่อผู้ติดต่อของรุ่นนี้ ที่มีการแสดง Bar Code สำหรับแสดงให้เพื่อน หรือผู้ใช้งานโทรศัพท์ที่สามารถอ่าน Bar Codeได้ง่ายๆ จากการประมวลผลเบอร์โทรศัพท์เป็นรูป Bar Code พร้อมกับชื่อผู้ติดต่อนั่นเอง
แถบหน้าจอแจ้งเตือน Notification ที่คุ้นเคยสำหรับผู้ใช้แอนดรอยด์เองก็ยังคงมีอยู่ นอกจากนี้ทางซัมซุงยังได้มีการเพิ่มแอปพลิเคชัน Switchers สำหรับใช้จัดการการเชื่อมต่อต่างๆไม่ว่าจะเป็น GPS ไว-ไฟ บลูทูธ และการซิงค์ข้อมูล แน่นอนว่ายังสามารถกดปุ่มวางสายค้างไว้เพื่อเข้าสู่ Phone options ในการปิดเสียง เปิดไฟลท์โหมดและเลือกปิดเครื่องได้
หน้าจอการใช้งานเบราว์เซอร์สามารถแสดงผลภาษาไทย ตัดคำไทยได้เป็นอย่างดี ตามมาตรฐานทั่วไปของแอนดรอยด์อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าตัว Spica ไม่รองรับการใช้งานมัลติทัช ในการซูมเข้าออก จึงต้องใช้การกดรูปแว่นขยายแทน ส่วนเมื่อกดเมนูขึ้นมาก็จะมีคำสั่งให้เลือกตามปกติ
ด้านบริการ GMS ที่มาพร้อมกับแอนดรอยด์โฟนนั้นประกอบไปด้วยบริการ Gmail, Google Maps, Googla Talk, Google Street View, Google Search, Market Place, Youtube และ Sync ซึ่งในเครื่องรุ่นนี้ สามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งหมด
เริ่มกันที่แอนดรอยด์ มาเก็ต (Android Market) ยังคงเป็นอินเตอร์เฟสแบบเดิมสำหรับเวอร์ชัน 1.5 คือหน้าแรกจะมีโปรแกรมยอดนิยมอยู่ด้านบน ถัดลงมาข้างล่างเป็นโหมดการใช้งานต่างๆ เช่น แอปพลิเคชัน เกม ค้นหา และโปรแกรมที่ดาวน์โหลดมาแล้ว
ส่วนของ แอปพลิเคชันประกอบไปด้วยหมวดย่อย ได้แก่ ทั้งหมด การติดต่อสื่อสาร ความบันเทิง ไฟแนนซ์ ไลฟ์สไตล์ มัลติมีเดีย ข่าวและพยากรณ์อากาศ ผลิตภัณฑ์ อ้างอิง ชอปปิ้ง เครือข่ายสังคม เครื่องมือ ท่องเที่ยว ส่วนของเกมก็มีแบ่งเช่นเดียวกันคือเป็น Arcade & Action, Brain & Puzzle, Card & Casino และ Casual
Camera
โหมดกล้องของ Spica ถูกออกแบบมาให้สามารถกดถ่ายรูปได้จากทั้งปุ่มสัมผัสบนหน้าจอมุมขวาบน และปุ่มชัตเตอร์กล้องที่ข้างเครื่อง โดยการโฟกัสทำได้โดยกดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้ เมื่อปล่อยปุ่มจะเป็นการถ่ายภาพ
หลังจากถ่ายภาพแล้ว จะมีการแสดงภาพล่าสุดอยู่ในมุมซ้ายบน สามารถกดที่บริเวณนั้นเพื่อย้อนกลับไปดูภาพได้ ซึ่งในโหมดถ่ายภาพสามารถกด เมนู เพื่อเลือกเปลี่ยนเข้าสู่โหมดวิดีโอ เข้าแกลลอรี่ดูภาพ และตั้งค่าได้
เมื่อถ่ายรูปเสร็จแล้ว ผู้ใช้สามารถกดเข้าไปในโหมดสไลด์โชว์ เพื่อแชร์ภาพในช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น MMS อีเมล เข้าเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ ปรับหมุนรูปภาพ ลบ ครอบรูป และอื่นๆ
การตั้งค่าในโหมดกล้องประกอบไปด้วยเลือกความละเอียดของภาพ เลือกให้เครื่องบันทึกพิกัดลงไปในรูปด้วยหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้ถือว่ามีการตั้งค่าให้เลือกค่อนข้างน้อย ส่วนการตั้งค่าการแสดงผล ก็สามารถเลือกขนาดรูปภาพ การจัดเรียงรูป ตั้งค่าสไลด์โชว์ต่างๆ ไม่ว่าเล่นวน เล่นสลับแค่นั้น
แต่ข้อดีของแอนดรอยด์คือ นอกจากแอปฯกล้องที่มากับเครื่องแล้ว ผู้ใช้ยังสามารถดาวน์โหลดแอปฯ ถ่ายภาพเพิ่มเติมมาใช้ได้ ที่นิยมใช้กันมากก็จะมีอย่าง FXcamera ผู้ใช้แอนดรอยด์ควรมีติดเครื่องกันไว้
Program And Setting
โปรแกรมที่มีมาให้พร้อมกับตัวเครื่องประกอบไปด้วย นาฬิกาปลุก เบราว์เซอร์ เครื่องคิดเลข ปฏิทิน กล้องวิดีโอ กล้อง รายชื่อผู้ติดต่อ โทรศัพท์ แอปฯพิเศษเพื่อให้เครื่องสามารถเล่นไฟล์ divx ได้ อีเมล เฟสบุ๊ก แกลอรี่ กูเกิลเมล กูเกิลแมปส์ กูเกิลทอล์ก แอปใช้งานจาว่า แอนดรอยด์มาเก็ต ข้อความสั้น เครื่องเล่นเพลง มายสเปซ การตั้งค่า Switchers และ โปรแกรมเล่นยูทูป
ส่วนของการตั้งค่าโดยรวมนั้นประกอบไปด้วยการตั้งค่าการเชื่อมต่อไม่ ว่าจะเป็น เครือข่าย ไวเลส บลูทูธ รวมไปถึงการตั้งค่า APN ต่างๆด้วย ถัดมาเป็นการตั้งค่าโทรศัพท์ พวกข้อความเสียง สายซ้อน โอนสายต่างๆ ต่อมาเป็นการตั้งค่าเสียงและการแสดงผล การซิงค์ข้อมูล ระบบรักษาความปลอดภัยและแสดงพิกัดสถานที่ การจัดการแอปพลิเคชัน แสดงผลหน่วยความจำทั้งภายในและภายนอก วันและเวลา ภาษาและการป้อนข้อมูล สุดท้ายเป็นรายละเอียดของตัวเครื่องต่างๆ
สำหรับคีย์บอร์ดนั้นทางซัมซุงไม่ได้มีการใส่ คีย์บอร์ดภาษาไทยมาให้ ทำให้ผู้ใช้จำเป็นต้องเข้าไปหาดาวน์โหลดแอปฯที่ชื่อ "DroidSans Thai Keyboard" มาใช้งานกันเอง ทั้งนี้ขอบคุณทีมงานจากเว็บไซต์ DroidSans ที่ช่วยพัฒนาคีย์บอร์ดสำหรับแอนดรอยด์ให้คนไทยได้ใช้กันด้วย
ในส่วนรายละเอียดตัวเครื่องอย่างที่ทราบกันว่า Spica มาพร้อม เฟิร์มแวร์ เวอร์ชัน 1.5 แต่ตัวเครื่องสามารถอัปเฟิร์มแวร์ที่ออกมาใหม่อย่าง 2.1 ได้ ซึ่งในต่างประเทศก็เริ่มมีให้อัปเกรดกันแล้ว ส่วนในประเทศไทยยังคงต้องรอทางศูนย์ซัมซุงประกาศให้ผู้ที่ใช้งานนำเครื่อง เข้าไปอัปเกรดกัน ส่วนของฮาร์ดแวร์ตัวเครื่อง Spica มาพร้อมกับหน่วยประมวลผล 800MHz RAM 128MB และ ROM หรือหน่วยความจำภายใน 512MB
Design of Samsung Galaxy Spica
ถ้าบอกว่าดีไซน์ของ Spica นั้นมีกลิ่นอายเดิมของออมเนีย นำมาผสมกับสตาร์กลายออกมาเป็น Spica ก็ว่าได้ เพราะสังเกตให้ดีช่วงหลังๆ โปรดักส์ดีไซน์ในตระกูลทัชโฟนของซัมซุงนั้นจะออกมาในแนวๆ นี้กันหมด โดย Spica มีวางจำหน่ายในประเทศไทย 2 สีด้วยกันคือ สีดำ และสีขาว
ตัวเครื่องส่วนใหญ่ทำผลิตมาจากพลาสติกคุณภาพสูง สมกับราคาของเครื่อง การประกอบเครื่องดูแน่นหนาดี ขนาดรอบตัวอยู่ที่ 115 x 57 x 12.9 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 120 กรัม ซึ่งขนาดของเครื่องถ้าผู้หญิงใช้อาจมองว่าใหญ่เกินไปหน่อย แต่สำหรับผู้ชายถือว่าอยู่ในขนาดพอดีมือ ไม่ใหญ่หรือเล็กจนเกินไป
ด้านหน้า - ไล่จากด้านบนประกอบไปด้วยช่องลำโพงสนทนา ที่มีลวดลายคล้ายตะแกรงเหล็กวางพาดอยู่ชิดขอบด้านบน ถัดลงมาเป็นหน้าจอทัชสกรีนแบบ Capacitive ขนาด 3.2 นิ้ว ความละเอียด 320 x 480 พิกเซล ที่เป็นแบบ AMOLED ทำให้คุณภาพของหน้าจอแสดงผลสีสวยสดใส แต่ก็มีข้อเสียคือเมื่ออยู่ในที่แดดจัด แทบมองไม่เห็นหน้าจอ
ล่างหน้าจอมีสัญลักษณ์ "Samsung" พาดอยู่ (แต่เครื่องที่วางขายสัญลักษณ์อยู่ส่วนบนของหน้าจอ) ส่วนปุ่มควบคุมต่างๆ ไล่จากซ้ายบนคือ ปุ่มเมนู ปุ่มค้นหา รับสาย ปุ่มควบคุม 5 ทิศทาง ปุ่มย้อนกลับ กลับหน้าแรก และปุ่มวางสาย (ใช้กดค้างสำหรับเปิด-ปิดเครื่อง) การใช้งานของปุ่มควบคุมค่อนข้างแข็ง ทำให้ส่วนใหญ่มักใช้การสัมผัสบนหน้าจอเป็นหลัก
ด้านหลัง - มีกล้องความละเอียด 3.2 ล้านพิกเซล พร้อมออโต้โฟกัส อยู่มุมซ้ายบน น่าเสียดายที่เครื่องรุ่นนี้ไม่มีแฟลชมาด้วย ส่วนอื่นๆ ของฝาหลัง มีโลโก้ตุ๊กตาแอนดรอยด์อยู่ตรงกลาง และตราซัมซุงอยู่ด้านล่างบริเวณลำโพงสเตอริโอ
เปิดฝาหลังออกมาพบกับแบตเตอรี Li-ion ความจุ 1,500 mAh อยู่ตรงกลาง ส่วนช่องใส่ซิมจะอยู่ทางฝั่งซ้าย ซึ่งในการใส่ซิมการ์ดจะแปลกว่าปกติตรงที่ หันด้านที่มีแถบแม่เหล็กออกจากตัวเครื่อง ขณะที่ช่องใส่หน่วยความจำไมโครเอสดีจะอยู่อีกฝั่งหนึ่ง
ด้านซ้าย - มีเพียงปุ่มปรับระดับเสียงเท่านั้น ด้าน ขวา - มีปุ่มล็อกหน้าจอ และปุ่มชัตเตอร์ ที่มีระบบออโต้โฟกัส เพียงแต่การทำงานจะไม่ใช่แบบ ชัตเตอร์ 2 จังหวะ ทำงานโดยเมื่อกดปุ่มลงไปกล้องจะทำการโฟกัสวัตถุ เมื่อต้องการถ่ายภาพให้ปล่อยปุ่มชัตเตอร์ เครื่องจะทำการบันทึกภาพ
ด้านบน - มีช่องเสียบหูฟังขนาดมาตรฐาน 3.5มิลลิเมตร และช่องเสียบสายชาร์จ และเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ผ่านพอร์ตไมโครยูเอสบี
ด้านล่าง - มีเพียงไมโครโฟนสนทนา
บทสรุป
ถึง Spica จะวางจำหน่ายในตลาดมาพักใหญ่ๆแล้วก็ตาม แต่ด้วยกระแสของแอนดรอยด์ ที่เริ่มเข้ามารุกตลาดบ้านเราอย่างจริงจังด้วยเวอร์ชัน 2.1 (Elclair) ที่จะเริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดในช่วงเดือนเมษายนนี้ สอดคล้องกับทางซัมซุงเองก็มีการประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่า Spica สามารถนำไปอัปเกรดเป็นแอนดรอยด์เวอร์ชัน 2.1 ได้
ดังนั้นจึงยอมรับว่า Spica เป็นแอนดรอยด์เครื่องหนึ่งที่น่าใช้สำหรับคนที่มีงบค่อนข้างจำกัดในช่วง หมื่นต้นๆ ทั้งนี้ยังไม่นับตลาดเครื่องแอนดรอยด์ที่มีออกมาต่ำกว่าหมื่นในบ้านเราขณะ นี้ ความโดดเด่นอีกจุดหนึ่งคือความเร็วของหน่วยประมวลผลที่ 800MHz แต่มาตกม้าตายตรงที่ขนาด RAM ที่ให้มาเพียง 128MB เท่านั้น
ด้านการเชื่อมต่อนั้น รองรับทั้ง 3G แบบ HSDPA ความเร็วสูงสุด 3.6Mbps ในคลื่นความถี่ 900/2100MHz การเชื่อมต่อไวไฟ บลูทูธ 2.1 GPS มีมาให้ตามมาตรฐาน รวมไปถึงช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5มิลลิเมตร และพอร์ตเชื่อมต่อแบบไมโครยูเอสบี ส่วนหน่วยความจำภายนอกสามารถใส่ได้สูงสุด 32GB
เรื่องของกล้องแม้จะให้มาถึง 3 ล้านพิกเซล พร้อมออโต้โฟกัส แต่ยังไม่มีแฟลชมาให้ด้วย ทำให้ความสามารถในการถ่ายรูปตอนกลางคืนยังไม่ดีเท่าที่ควระ ขณะที่การบันทึกวิดีโอทำความละเอียดสูงสุดได้เพียง 352 x 288 พิกเซลเท่านั้น
การตอบสนองของตัวเครื่องแบบเพียวๆ ที่ไม่มีอินเตอร์เฟสการใช้งานมาให้ ทำได้ค่อนข้างรวดเร็วดี เพียงแต่ต้องรอดูว่า ขณะที่มีการออกตัวอัปเดตเวอร์ชันของแอนดรอยด์แล้ว จะมีปัญหาความหน่วงกับอินเตอร์เฟสหรือไม่ เพราะจากตัวทดลองที่มีปล่อยออกมาในขณะนี้ ยังไม่เร็วเท่าที่ควร
เสียงสนทนาของ Spica ทำได้ค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับมาตรฐานในตลาด ระยะเวลาการใช้งานบนแบตเตอรีขนาด 1,500 mAh สามารถใช้งานแบบสบายๆได้ 2-3 วัน จากการเปิดให้มีการเชื่อมต่อ EDGE ตลอดเวลา แต่ถ้าเปลี่ยนไปใช้งาน 3G ใช้งานได้เพียงวันกว่าๆเท่านั้น
ขอชม
- หน่วยประมวลผล 800MHz ในราคาหมื่นต้นๆ ช่วยให้ตอบสนองได้รวดเร็ว
- ตัวเครื่องรองรับไฟล์วิดีโอ Divx และ Xvid พร้อมช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5มิลลิเมตร
- แบตเตอรีที่ค่อนข้างอึด เมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนทั่วๆไป
ขอติ
- หน้าจอ AMOLED ที่ชัด แต่สู้แสงจ้าไม่ค่อยได้
- ไม่มีอินเตอร์เฟสการใช้งานใดๆมาครอบ
- คุณภาพและขนาดของวิดีโอค่อนข้างน้อย
No comments:
Post a Comment