ช่วง ฝนชุ่มฉ่ำเต็มท้องฟ้าแบบนี้ แม้จะช่วยลดอุณหภูมิความร้อนของอากาศที่ระอุอบอ้าวมาตลอดก่อนนี้ได้ลงไปมาก ทว่า สิ่งที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้สำหรับหลายๆ คน ก็คือ อาการของไข้หวัด ประกอบกับระยะนี้มี “ฟอร์เวิร์ดเมล” ฉบับหนึ่ง ว่อนอยู่ในโลกไซเบอร์ บอกรายละเอียดว่าการกินยากับน้ำอุ่น น้ำมีอันตราย และไม่ดีต่อสุขภาพ ทำเอาแฟนนักอ่านผู้ใส่ใจสุขภาพจำนวนหนึ่ง ต้องกรี๊งกร๊างมาถามไถ่ข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร และการกินยาที่ถูกต้องควรทำอย่างไร
ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี หัว หน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเกี่ยวกับข้อสงสัยดังกล่าว ว่า ปัจจุบันยังไม่มีรายงาน หรือผลการวิจัยใดๆ บ่งบอกว่า การกินยากับน้ำอุ่นจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างที่หลายๆ คนกำลังกังวล แต่โดยหลักแล้ว ยอมรับว่า การกินน้ำอุ่นกับยา อาจจะทำให้เกิดปฏิกิริยาเล็กน้อย แต่เชื่อว่าไม่น่าจะอันตรายอะไร
“คือ ในร่างกายคนเรามีอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส แล้วการดื่มน้ำอุ่นที่ร่างกายรับได้ก็ไม่น่าจะอุ่นมากจนร้อน อาจจะมีบ้างที่ทำให้ยาแตกตัวเร็วขึ้น ละลายง่ายขึ้น ทำให้ดูดซึมเร็วขึ้น อาจจะส่งผลบ้าง แต่ไม่อันตรายขนาดที่ฟอร์เวิร์ดเมล บอกแน่นอน ซึ่งฉบับนี้ก็ได้รับมาเหมือนกัน มาถามแบบนี้ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ได้ทำความเข้าใจให้ประชาชนเข้าใจข้อสงสัย นี้เหมือนกัน แต่มันก็มียาบางชนิดเหมือนกัน ที่มีปฏิกิริยากับน้ำอุ่นจัดๆ เช่น ยากลุ่มแอสไพริน ที่ถ้าเจอน้ำร้อนหรือน้ำอุ่นจัดๆ จะเกิดกรดน้ำส้ม และทำให้เสียฤทธิ์ไปได้ ทางที่ดีที่สุด คือ หากต้องกินยา ควรกินยากับน้ำอุณหภูมิปกติ ไม่เย็น หรือไม่อุ่น แม้จะไม่มีงานวิจัยว่าน้ำเย็นหรืออุ่นอันตรายต่อสุขภาพเมื่อกินกับยา น้ำอุณหภูมิห้องที่ตั้งไว้นอกตู้เย็น น่าจะไม่ทำปฏิกิริยาใดๆ กับเม็ดยามากที่สุด”
นอกจากนี้ ผศ.ดร.ภญ.นิยดา ยังฝากเตือนไปยังผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ กินยากับน้ำชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกินยากับนมและน้ำผลไม้ ซึ่งเป็น 2 เครื่องดื่มยอดฮิตของคนยุคปัจจุบัน โดยระบุว่า นมเป็นเครื่องดื่มที่มีแคลเซียมสูง ซึ่งในยาบางประเภท เช่น กลุ่มยาแก้อักเสบเตตร้าไซคลิน จะทำปฏิกิริยากับนม โดยจะถูกแคลเซียมจากนมดักฤทธิ์เอาไว้ ทำให้ยาไม่ออกฤทธิ์เลย
“ส่วนในประเด็นของน้ำผลไม้ ซึ่งส่วนใหญ่มีค่าเป็นกรด จะทำให้การทำละลายของยาเปลี่ยนไป ซึ่งอาจจะทำให้โปรไฟล์การออกฤทธิ์ของยามีปัญหาได้ ซึ่งนมกับน้ำผลไม้นี้ควรหลีกเลี่ยงในการใช้เป็นน้ำที่กินกับยา โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ต้องได้รับฤทธิ์ของยาอย่างสม่ำเสมอ และเต็มจำนวนโดส เช่น ผู้ป่วยเอดส์ที่ต้องได้รับยากลุ่ม ARV ที่หากฤทธิ์ของยาเปลี่ยนไป การฆ่าเชื้อเอชไอวีก็จะได้ผลไม่ตรงตามที่ตั้งเป้าการรักษา ซึ่งอันตรายและส่งผลเสียโดยตรงต่อคนไข้”
อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ ยังกล่าวต่อไปอีกด้วยว่า ในต่างประเทศมีการวิจัย และพบว่า น้ำเกรปฟรุต ซึ่งเป็นน้ำส้มชนิดหนึ่งที่ชาวตะวันตกชอบดื่ม มีผลต่อเอนไซม์ตับ ทำให้ตับมีปฏิกิริยาต่อการกำจัดสารตกค้างจากยาออกจากตับ และมีคำแนะนำว่าไม่ควรจะกินยากับน้ำผลไม้ชนิดนี้ด้วย
“อีกเรื่องที่หลายคนไม่ทราบ คือ ยาบางชนิดก็กินคู่กันไม่ได้ ยากับสมุนไพรหรืออาหารเสริมบางอย่างก็ทำปฏิกิริยากันเอง อันนี้ฝากไปถึงเภสัชกรที่ทำหน้าที่จ่ายยาให้คนไข้ด้วยว่า ควรแจ้งข้อมูลและให้แนะนำแก่คนไข้ให้ครบถ้วน แล้วก็ฝากถึงคนไข้ให้ซักถามเมื่อรับยา หรือหากเป็นการซื้อยากินเองก็ต้องถามเภสัชกรประจำร้านขายยาให้ชัดเจนว่ายา ที่จะกินมีผลข้างเคียงอะไร ห้ามกินกับอะไร กินคู่กันได้ไหม เพื่อสวัสดิภาพในสุขภาพของคุณเอง” ผศ.ดร.ภญ.นิยดา ทิ้งท้าย
http://www.thai-classified.com
No comments:
Post a Comment