Saturday, November 3, 2012

วิธีเปลี่ยนหลอดไฟ บัลลาส สตาร์ทเตอร์


เมื่อหลอดไฟในบ้านเสีย...ลงมือเปลี่ยนด้วยตนเอง แค่อาศัยการเรียนรู้ ก็ทำได้แล้ว
การตรวจสอบหลอดไฟ
          หลอด Fluorescent มีส่วนประกอบหลายอย่าง การตรวจสอบจะยุ่งยากกว่าหลอดไส้ ซึ่งเราสามารถตรวจได้ตามอุปกรณ์ของชุดหลอด ดังต่อไปนี้
          1.   การตรวจหลอดไฟ ที่พบบ่อยที่สุดในหลอดฟลูออเรสเซนต์ คือ หลอดเสื่อมสภาพ ส่วนมากจะมีสีดำที่ขั้วหลอด เมื่อใช้ไปได้ระยะหนึ่ง แต่ถ้าขั้วหลอดยังไม่ดำ แล้วไฟไม่ติด เราสามารถตรวจสอบได้ง่ายๆ โดยลองหมุนหลอดไฟมาก่อน เพราะอาจเป็นที่ขั้วหลอดหลวมก็ได้ หรือลองทำความสะอาดขาที่เสียบดุก่อน ไม่ก็หาหลอดจากชุดอื่นมาลองเปลี่ยนดูก็ได้
         2.   การตรวจสตาร์ทเตอร์ ถ้าดูแค่ภายนอกคงไม่สามารถบอกได้ว่าสตาร์ทเตอร์เสียหรือไม่เสีย ให้นำออกไปลองกับหลอดไฟชุดอื่น หรือลองหมุนสตาร์ทเตอร์ดูก่อน ถ้าไม่ติดอาจลองหามาเปลี่ยนใหม่
          3.   การตรวจบัลลาสต์ ถ้าบัลลาสต์ไหม้จะมีกลิ่นเหม็นไหม้ออกมา ถ้าอยากรู้ว่าบัลลาสต์ขาดหรือไม่ ก็ตรวจสอบได้โดยใช้ไขควงวัดไฟที่ขั้วบัลลาสต์ ปกติถ้าแตะที่ขั้วทั้งสองแล้วจะต้องมีไฟ ถ้าไม่มีก็หามาเปลี่ยนใหม่
การสังเกตุอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น
          1.   อาการหลอดสั่น หรือกะพริบตลอดเวลา อาจเกิดจาก
                1.1   สตาร์ทเตอร์เสีย ซึ่งถ้าถอดสตาร์ทเตอร์ออกขณะที่หลอดติดก็จะหยุดกะพริบ
                1.2   หลอดใหม่เกินไป บางหลอดที่ซื้อมาใหม่จะกะพริบถี่มาก ให้ปล่อยทิ้งไว้ ใช้งานสักพัก แล้วอาการจะหายไปเอง
                1.3   แรงดันต่ำเกินไป เมื่อไฟตกมาก แรงดันไฟฟ้าต่ำ หลอดก็จะกะพริบ ดังนั้นจะแก้ไขได้โดย ซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าที่เรียกว่าหม้อแปลงออโต้มาติค โดยเลือกให้มีขนาดเหมาะสมกับปริมาณไฟฟ้าที่ใช้
          2.   ใช้เวลานานกว่าหลอดจะสว่าง อาจเกิดจาก
                2.1   สตาร์ทเตอร์เสื่อม ต้องลองเปลี่ยนสตาร์ทเตอร์ดู
                2.2   หลอดเสื่อม ถ้าสังเกตุว่าขั้วหลอดเริ่มดำ ต้องเปลี่ยนหลอดใหม่
                2.3   แรงดันต่ำ ให้เช็คดูโดยการวัดแรงดันไฟฟ้า
          3.   เสียงดังหึ่งๆ เวลาเปิด อาจเกิดจาก
                หลอดไฟที่ไม่ได้ใช้นานๆ แล้วเปิดใช้จะเกิดเสียง แต่ปกติ 2-3 ชั่วโมงก็จะหาย แต่บางหลอดเปิดไปนานๆ ก็ยังไม่หาย ดังนั้นให้เปลี่ยนบัลลาสต์ เพราะปกติเสียงจะเกิดจากแกนเหล็กของบัลลาสต์ที่หลวม
          4.   ขั้วหลอดดำ อาจเกิดจาก
                หลอดที่ใกล้หมดอายุ เมื่อใช้มานานๆ แต่ถ้าเพิ่งเปิดใช้แล้วเป็น อาจเกิดจากการลัดวงจรในบัลลาสต์ ต้องเปลี่ยนบัลลาสต์ใหม่
 การเปลี่ยนหลอดไฟ
          1.   การเปลี่ยนหลอดแบบขาสปริง ตังหลอดจะเหมือนกับหลอดแบบขาทั่วไป การเปลี่ยนให้ดันไปข้างใดข้างหนึ่งก่อนแล้วจึงดึงลง
          2.   การเปลี่ยนหลอดแบบขาทั่วไป หมุนหลอดไปมาให้ขาหลุดออกจากล๊อคแล้วค่อยดึงลงมา
          3.   การเปลี่ยนบัลลาสต์ ควรปิดสวิตซ์ไฟก่อน ถอดฝาครอบออก จะเห็นบัลลาสต์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ให้ถอดขั้วต่อสายบัลลาสต์ด้วยการใช้ไขควงปากแบนคลายสกรู แล้วดึงสายออก จากนั้นก็ไขเอาบัลลาสต์ออกมา นำตัวใหม่มาใส่แทนที่ แล้วไขสกรูให้แน่นและต่อสายเข้าเหมือนเดิม
          4.   การเปลี่ยนสตาร์ทเตอร์ ให้หมุนเอาสตารท์เตอร์ออกจากลีอค แล้วใส่อันใหม่กลับเข้าไป โดยหันด้านที่มีขั้วเสียบเข้าไปในช่องเดิมแล้วหมุนให้แน่น

No comments: